วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันคริสต์มาส



          วันคริสต์มาส

             ทุกวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี  จะมีการฉลองรื่นเริงในหมู่คริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก 
กิจกรรมในวันนี้มีแต่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ไม่ว่าจะเป็นการกินเลี้ยง แลกของขวัญ แต่งบ้านด้วยต้นคริสต์มาส ร้องเพลงคริสต์มาส  ไปจนถึงเอาถุงเท้าไปแขวนรอซันตาคลอสผู้อารีย์นำของขวัญมาใส่ไว้ให้ 


             วันคริสต์มาสมีความสำคัญ คือ เป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์ 
พระเยซูเป็นชาวยิว  ประสูติในประเทศปาเลสไตน์  ซึ่งเดิมตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใกล้เคียง
มาเป็นเวลาช้านาน  มีนักปราชญืชาวยิวหลายท่านพยากรณ์ว่า วันหนึ่งข้างหน้าจะมีพระบุตรของพระเจ้าเสด็จลงมาปลดแอกชาวยิวให้ได้รับอิสระภาพ  และในที่สุดวันนั้นก็มาถึง  เมื่อพระเยซูประสูติที่
หมู่บ้านเบธเลเฮม แคว้นยูดา มารดาของพระองค์ชื่อมาเรีย  บิดาชื่อโยเซฟมีอาชีพเป็นช่างไม้


                 พระเยซูทรงพระปรีชาสามารถมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์สามารถโต้ตอบกับพระชาวยิว
ในด้านศาสนาได้อย่างฉะฉาน ชีวิตในตอนต้นของพระองค์ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายทรงมีอาชีพ
เป็นช่างไม้ช่วยบิดา จนพระชนมายุราว 30 พรรษา จึงเสด็จออกประกาศคำสอนและทรงรักษาคนป่วยประเภทต่างๆ  เช่น คนตาบอด ง่อยเปลี้ย ให้กลับเป็นปกติดังเดิม 



             วันคริสต์มาสเป็นวันหยุดประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูซึ่งตรงกับ
วันที่ 25 ธันวาคม โดยวันดังกล่าวอาจจะไม่ตรงกับวันเกิดจริงๆของพระเยซู แต่อาจจะเป็นวันที่
ถูกเลือกเอาไว้เพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาลโรมัน หรือสอดคล้องกับวันที่มีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด (winter solstice) คริสต์มาสเป็นเทศกาลที่สำคัญ และมีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในย่านของ
ชาวคริสเตียนนั้นจะมีการจัดเทศกาลนี้ยาวนานถึง 12 วัน


                แม้ว่าวันคริสต์มาสจะเป็นเทศกาลของชาวคริสต์ แต่ในหมู่คนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ก็มีการเฉลิมฉลองกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน ซึ่งการเฉลิมฉลองนั้นมีทั้งแบบสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเลย
กับอีกแบบหนึ่งคือแบบดั้งเดิม โดยประเพณีที่เป็นนิยมในสมัยใหม่นั้น ได้แก่ การมอบของขวัญ 
การแลกเปลี่ยนการ์ดอวยพร  การจัดงานเลี้ยงฉลองในโบสถ์  การรับประทานอาหารมื้อพิเศษ 
และการโชว์งานตกแต่งประดับประดาตามสถานที่ต่าง ๆด้วยต้นคริสต์มาส  ดวงไฟประดับ  พวงดอกไม้ ต้นมิสเซิลโท  การแสดงเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซู และต้นฮอลลี่   นอกจากนี้บิดาแห่งคริสต์มาส (หรือที่ชาวอเมริกาเหนือและไอร์แลนด์เรียกว่า ซานตาคลอส)  ยังเป็นหนึ่งตำนานที่เป็นที่รู้จักกันว่า
เป็นผู้นำของขวัญมามอบให้กับเด็ก ๆ 
 


                เนื่องจากการมอบของขวัญและการฉลองทั้งหลายนี้ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจสูงมาก 
ทั้งในเมืองของชาวคริสเตียน และที่ไม่ใช่ชาวคริสเตียนเทศกาลคริสต์มาสจึงกลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการขายของสำหรับเหล่าพ่อค้าและนักธุรกิจการที่ระบบเศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นจากเทศกาลนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกพื้นที่ในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมานี้



ที่มา   http://www.sirikitdam.egat.com/days/12december/0612.html
           http://www.educatepark.com/english/chritmas-story.php







วันรัฐธรรมนูญ



          วันรัฐธรรมนูญ



               วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรเพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศ
ให้แก่ประชาชนชาวไทย
                การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับว่ามีความสำคัญ
เป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย  เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
               1. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์
ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
               2. หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย 
พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
               3. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
               4. รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร
 

               จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไป
จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติ  มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร 
ซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา  พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ 
เป็นผู้บริหารประเทศ



                วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว  เรียกว่า 
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว  สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่  การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
              1. พระมหากษัตริย์
              2. สภาผู้แทนราษฎร
              3. คณะกรรมการราษฎร
              4. ศาล 



               ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่า
พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ  เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฎิบัติราชการต่างๆจะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ 
โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎร  จึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติ ออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้  เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบัน
ที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง  ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว 
พิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

                กระทั่งถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร  ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ  ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา  ทั้งนี้เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475
ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจ
ทางคณะรัฐมนตรี  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนรัฐสภา  
ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น  แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรี
ในการบริหารแผ่นดินด้วย  แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้  หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสีย
ผลประโยชน์สำคัญของรัฐ  ซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎร
เลือกตั้งใหม่  ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะ
อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

                 อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่  พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทยมีทั้งสิ้น 20 ฉบับ  แต่ถ้านับเฉพาะฉบับที่สำคัญจะมีเพียง 13 ฉบับเท่านั้น



ที่มา  http://haab.catholic.or.th/photo/king/tomanoon/tomanoon.html



  
 

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันพ่อแห่งชาติ



          วันพ่อแห่งชาติ

         วันพ่อแห่งชาติ  ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี  เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โดยจัดติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2523  
โดยการริเริ่มของนายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา คุณหญิงเนื้อพิทย์ เสมรสุต 
โดยสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อ ได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล



               วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือวันพ่อแห่งชาติ 
มีความเป็นมาของวันสำคัญ  คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพ
เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา 
โดยนายแพทย์วิทท์มอร์เป็นผู้ถวายการประสูติ
               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์  ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการจำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้  คือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” 
อันคำว่า โดยธรรมนั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรมหรือที่เรียกกัน
โดยสามัญว่า  ราชธรรม 10 ประการ

               


                 วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 
โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต  นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มหลักการ
และเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ  คือ  พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว
และสังคม  สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู 
และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ  จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น วันพ่อแห่งชาติ”  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ 


                ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ พุทธรักษา ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น  ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี  และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย 
การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ จึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อ 
ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว
               คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง 
ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย



"อันราชาเลี้ยงรักษาซึ่งทวยราษฎร์          ประดุจเป็นปิตุราชอยู่ทุกเมื่อ
ควรที่บุตรสุดรักจักจุนเจือ          พระคุณนั้นให้อะเคื้อด้วยภักดี"



ที่มา   http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/
           http://www.enn.co.th/



วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง




วันลอยกระทง
              วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 
ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา 
บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนด
จัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ 
ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
   ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทงแล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย

ประวัติวันลอยกระทง
เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ใช้ใส่เทียนประทีป
แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1



คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์
อยู่ในมหาสมุทร
3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไป จำพรรษา
อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที
เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของ พระพุทธเจ้า
6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้อง ทะเลลึก
หรือสะดือทะเล





ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

                ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" 
ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้
เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญ
เดือนสิบสองในแบบไทย)



                ภาคอีสานในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึง
วันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป



                ภาคกลาง  มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด



                ภาคใต้   อย่างที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลาก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

ที่มา  http://www.dmc.tv/pages/top of_week/
        http://th.wikipedia.org/wiki/





ทอดกฐิน





การทอดกฐิน


การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง
การทอดกฐินเป็นประเพณีอันดีงามของชาวพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน
กว่า 2,500 ปี กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐออกเดินทางไกล เพื่อไปเฝ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน พระภิกษุเหล่านั้นมีจีวรที่เปรอะเปื้อนเปียกชุ่ม และเปื่อยขาด
ด้วยความเก่า พระบรมศาสดาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษารับผ้ากฐินได้หลังออกพรรษา
เพื่อนำมาผลัดเปลี่ยนผ้าเก่า ประเพณีทอดกฐินได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นและสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
การทอดกฐินเป็นบุญที่มีอานิสงส์มหาศาล
บุญจากการทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ ที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่น ด้วยสาเหตุหลายประการ ดังนี้ คือ 
1.) จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
2.)จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้ 
3.)จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 
4.)จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) 
และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป 
5.)จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น 

6.)จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น


              โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน เกิดจากพุทธประสงค์ 
พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อพลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า 
แต่ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้อนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาต ถวายผ้าอาบน้ำฝน

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้
การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง
ที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น
เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ไม่จัดเป็นการทอดกฐิน
แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
        นอกจากนี้การทอดกฐินยังเป็นทานที่พิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกัน การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ ที่ผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญทั้ง 2 ฝ่าย


ความหมายของคำว่า ทอดกฐิน
กฐินทาน คือ การถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ
และปัญญา ผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่
ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย
คำว่า กฐิน แปลว่า สะดึง หมายถึง ไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งรูปสี่เหลี่ยม และรูปวงกลม
เมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้วจะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวาย
แด่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา คำว่า ทอดกฐิน จึงหมายถึง การน้อมนำผ้าจีวร
มาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้นเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้า หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกอง
หยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้น
              เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้น
              อีกประการหนึ่ง จะได้ไม่เป็นที่หมายปองของพวกโจร จะได้ไม่ถูกขโมยหรือถูกโจรปล้นชิงไป เพราะผู้คนในสมัยนั้น รังเกียจผ้าผุปะหรือผ้าเก่าๆ ถือว่าเป็นผ้าเสนียด จึงไม่มีใครอยากได้ 
แต่มาภายหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับผ้าที่คหบดีนำมาถวายได้ เนื่องจาก
หมอชีวกได้กราบทูลเพื่อที่จะถวายผ้าแด่พระภิกษุ เพราะเห็นว่าพระภิกษุทั้งหลายมีความลำบาก
ในการแสวงหาผ้าเป็นอย่างยิ่ง



ที่มา  http://www.dmc.tv/pages/buddha_biography
        http://www.dhammathai.org/day/kathin.php