วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

วันสงกรานต์



          วันสงกรานต์


          สงกรานต์  เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย  ลาว  กัมพูชา  พม่า  ชนกลุ่มน้อยชาวไต
แถบเวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย  
สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต  หมายถึง  การเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักราศีหรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

          ความหมายของวันสงกรานต์

           คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า  สํ-กรานต  แปลว่า  ก้าวขี้น  หรือย่างขึ้น   
การย้ายที่  เคลื่อนที่ คือ  พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่  หมายถึง วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 
13,14,15 เมษายนของทุกปี  แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ 
วันที่ 14 เป็นวันเนา  วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก
              ความหมายของคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้
              สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น"  นั้นหมายถึง  การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ 
อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน  ที่เรียกว่า  สงกรานต์เดือน  แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้น
ราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี  ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
              มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่  หมายถึง สงกรานต์ปี คือ ปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์ หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี  แต่มหาสงกรานต์  หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว
              วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่"  หมายความว่า เป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน  วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่  วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คือ อยู่ประจำที่แล้ว
               วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก"  เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่  การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม  สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์
ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้




          ความเป็นมาของวันสงกรานต์

          ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ 
โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) 
เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"  วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช
และเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"  จากหลักการข้างต้นนี้  ทำให้ปัจจุบัน
เทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ.2551 และ พ.ศ. 2555 
ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน  อย่างไรก็ตามปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้
เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
             สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ
จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ 
คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี


           พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง 
แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป 
ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับ
ความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น 
มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทย
เกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์  นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว  ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคลเพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข  ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่า
ได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น 
‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ


           การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์
เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม  นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ



          ตำนานนางสงกรานต์

          ตามจารึกที่วันพระเชตุพลวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว 
มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวาร
ไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตร
กับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม  "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย


           ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหา
กับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชาแต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน


              ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญ
บนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ 
นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก 
คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้


              ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบ
ที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน 
ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง 
จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะ
ก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี 
ในเขาไกรลาศ
                    จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม 


          โดยในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
              ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ 
เสด็จมาบนหลังครุฑ


              ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า 
เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)


              ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู 
เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)


              ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า 
เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)


              ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน 
เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)


              ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ 
เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)



              ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล 
เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)


           สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

       - วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
       - วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
       - วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
       - วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
       - วันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
       - วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
       - วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี




          แหล่งที่มา  http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/












วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

วันจักรี



          วันจักรี



          ในทุกๆ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีนั้นถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ 

          ประวัติความเป็นมาของวันจักรี

          เนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2325 นั้นเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และยังทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย และยังเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน 


               ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง 


               โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 
และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทหรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 



              ซึ่งการซ่อมแซม  ก่อสร้าง  และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จ
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461  จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี" 




               แหล่งที่มา  http://hilight.kapook.com/view/22420


  



วันมาฆบุชา



          วันมาฆบูชา



           วันมาฆบูชา  เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย  "มาฆบูชา"  ย่อมาจาก  "มาฆปูรณมีบูชา"  หมายถึง  การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย 
หรือเดือน 3  ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม)  ถ้าในปีใดมี
เดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน  ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4) 


           วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
เมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา  โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ 
1. พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย 
2. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง 
3. พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา
4. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "
วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4


            เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้ง
แห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น
โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ 
มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป 
จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร


           พิธีการทางพระพุทธศาสนา
           การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ 
ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน 
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3


           พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชา
คล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือ มีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้  เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ 
และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร


           การประกอบพิธีวันมาฆบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย 
เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันมาฆบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัด
ในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น




           แหล่งที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/



      

วันตรุษจีน



          วันตรุษจีน

       "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้

ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ"

 ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย


          ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่
ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้
เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน 
ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2556 นี้ วันตรุษจีนตรงกับ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 


          ประวัติวันตรุษจีน
       เราไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่า
เป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหาร
และเสื้อผ้า  การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน  บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้ายออกไป  ประตูหน้าต่างจะ
มีการขัดสีฉวีวรรณ ทาสีใหม่ ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม  ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษ
ที่มีคำอวยพร  อย่างเช่น  อยู่ดีมีสุข  ร่ำรวย  และอายุยืนเป็นต้น
          ทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า  อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ  ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน  อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข  เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี  สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี   จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้
จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึง บรรพชนอวยพร  และเป็นธรรมดา
เสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป  และการใส่สีดำหรือขาว
เป็นสิ่งต้องห้าม  ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์  หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกัน
จนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้
จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง


           เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง 
เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ  และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง  หลังจากนั้นทุกคน
ในครอบครัวต่างออกมาเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่  เริ่มจากญาติๆ  แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน 
ในวันตรุษนี้  อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ  การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานโคมไฟ 
ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ  ถึงแม้ว่าการฉลองวันตรุษจีน 
จะมีแตกต่างกันออกไป  แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน


           ตรุษจีนในประเทศไทย
       ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
            วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก
            คือ  วันก่อนวันสิ้นปี  เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้ายหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่หรือตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 
4 วันที่แล้ว


          

                 วันไหว้ คือ วันสิ้นปี

             จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
             ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย  เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด (ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด)  
เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง


           ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ  คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่  ญาติพี่น้อง ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว 
เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน  การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย อาหารคาวหวาน ( ((((((((((99999(ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ)  รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง  เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ  หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล  และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกัน
ได้มากที่สุด  จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว


               ตอนบ่าย จะไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋  เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  เครื่องไหว้จะเป็นพวก
ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทับเพื่อไล่
สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล


          

                   วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ

               คือ  วันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี  วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติ
สืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก 
โดยนำส้มสีทองไปมอบให้  โดยจะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือ คือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดี
ต่อกัน  ไม่ทวงหนี้กัน  ไม่จับไม้กวาด  และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและ
พักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น


               อาหารไหว้เจ้า
         ในวันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี  อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง  รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว 
ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่   ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงราก
หรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน
               เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย


               เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน


               สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย


               เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข


               หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข 
เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีแห่งโชคร้าย 
สำหรับปีใหม่  และหมายถึงการไว้ทุกข์


               อาหารอื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดม- สมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่  เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
               ทางตอนใต้ของจีน จานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ทางเหนือ หมั่นโถ และติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม อาหารจำนวนมาก
ที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน




                แหล่งที่มา  http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/